top of page

แค่เรียนฟังและพูดแบบ CLT ก็ใช้ภาษาอังกฤษแบบถูกต้องได้


Communicative Language Teaching หรือ CLT เป็นกลวิธีการสอนภาษาอังกฤษวิธีหนึ่งที่มีลักษณะสำคัญคือ

  • เน้นทักษะการฟังและการพูด

  • เน้นการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) ในบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน

  • นักเรียนได้เคลื่อนไหวระหว่างเรียนมากกว่าที่จะนั่งอยู่บนเก้าอี้เพียงอย่างเดียว ในการทำกิจกรรมที่ผู้สอนเป็นผู้เตรียมบทเรียนและกำกับให้เป็นไปตามแผนการสอน

  • เน้นให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษกันเองในกลุ่มมากกว่าการพูดกับครูผู้สอน

  • ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้หนังสือเรียน

  • ไม่เน้นสอนไวยากรณ์ และผู้สอนอาจไม่ได้แก้ไขไวยากรณ์ที่ผิดของนักเรียนในทันทีทันใด

หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อไม่สอนไวยากรณ์หรือ Grammar ให้กับนักเรียน แล้วนักเรียนจะพูดถูกได้อย่างไร คำตอบก็คือนักเรียนสามารถพูดถูกได้ โดยเริ่มจากการ “ฟัง” และ “สังเกต” ผู้สอนว่าครูกำลังพูดถึงอะไร และสิ่งนั้นหมายความว่าอะไร จากนั้นนักเรียนจึงเริ่ม “เดา” เพื่อพูดและสื่อสารกับครูผู้สอน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ภาษาตามธรรมชาติของมนุษย์

ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้แบบนี้คือ เด็กเล็กๆทุกคนที่เริ่มหัดพูดภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ (mother tongue) ของคนไทยครับ ลองสังเกตดูว่า เมื่อเด็กยังไม่สามารถพูดได้ สิ่งที่เด็กทำในกระบวนการเรียนรู้ภาษาไทยคือการฟังและสังเกตท่าทางหรือภาษากายของผู้พูด จากนั้นเด็กจะเริ่ม “เดา” คำศัพท์และแสดงออกมาด้วยการพูดเลียนแบบหรือพูดตามที่เคยได้ยินพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ พูดให้ฟัง

ในช่วงการ “เดา” นี้ นักเรียนอาจเดาผิดบ้างเดาถูกบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะใจความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้แบบนี้คือ การให้นักเรียนได้เข้าใจจริงๆ ถึงการใช้คำศัพท์และภาษาในการสื่อสารว่า อะไรใช่ และอะไรไม่ใช่ เพื่อให้นักเรียนได้รู้ว่า ถ้าต้องการจะสื่อสารในสิ่งที่เขาต้องการนั้น เขาต้องพูดว่าอะไร พูดแบบไหนเขาจึงจะสื่อสารและได้ในสิ่งที่เขาต้องการ โดยกระบวนการเรียนรู้นี้มีเป้าหมายปลายทางก็คือ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนในชั้นเรียนไปใช้สื่อสารได้จริง

ส่วนนี้ก็สอดคล้องกับ แนวคิดของ Stephen D. Krashen ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาที่สอง (Second Language Acquisition) จาก University of Southern California ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“Acquisition requires meaningful interaction in the target language - natural communication - in which speakers are concerned not with the form of their utterances but with the messages they are conveying and understanding.”

การเรียนรู้(ภาษา)ต้องการการปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายในภาษานั้นๆ ซึ่งก็คือการสื่อสารตามธรรมชาติ ที่ผู้พูดไม่ได้ให้ความสำคัญกับไวยากรณ์ของภาษาในคำพูดของตน แต่ให้ความสำคัญกับข้อความหรือสารที่ผู้พูดกำลังจะส่งต่อและทำความเข้าใจต่างหาก

หากผู้พูดส่ง "สาร" ที่ต้องการสื่อไปให้ผู้ฟังเข้าใจได้ การสื่อสารก็สัมฤทธิผลแล้ว

เมื่อกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการสอนแบบ CLT ก็จะช่วยให้ผู้เรียนได้ซึมซับและเข้าใจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ผู้เรียนคัดเลือกเองว่า เป็นประโยชน์และตนเองสามารถนำไปใช้งานได้จริงๆ ได้ไปโดยปริยาย แบบเดียวกับที่เด็กเล็กๆ สามารถพัฒนาจากการพูดเพียงคำสั้นๆว่า “หม่ำๆ” หรือ “ขนม” มาพูดประโยคยาวๆอย่าง “แม่คับ ขอกินหนม” หรือ “ขอ(เงิน)ซื้อขนมหน่อย” ได้ โดยไม่ต้องเข้าเรียนภาษาไทยในชั้นเรียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CLT และแนวทางการสอนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนของท่านสามารถคลิกที่นี่เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ค่ะ

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Follow Us
Search By Tags
  • Facebook Basic Square
  • YouTube Social  Icon
bottom of page