top of page

นักเรียนไทยเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนน้อยไปจึงยังพูดไม่ได้? จริงหรือ?

หนึ่งในต้นเหตุของปัญหาที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันในประเด็นที่ว่า ทำไมนักเรียนไทยถึงยังใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ดี หรือยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้คือ เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษน้อยเกินไป ผมจึงอยากชวนให้ทุกท่านไปลองสำรวจข้อเท็จจริงและแนวคิดต่อประเด็นนี้กันว่าจริงหรือไม่


หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้นักเรียนได้เรียนภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ราว 40-240 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา โดยแตกต่างกันไปตามระดับชั้นเรียนดังจะเห็นได้จากตารางด้านล่างนี้ ซึ่งหากแบ่งออกเป็นจำนวนคาบต่อสัปดาห์แล้ว ก็อยู่ที่ประมาณ 1-5 คาบต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ แต่ละโรงเรียนสามารถจัดสอนเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและความเห็นของผู้บริหารโรงเรียน


จำนวนชั่วโมงขั้นต่ำต่อปีการศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น ปลายปี 2016 ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีนโยบายเพิ่มจำนวนคาบเรียนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนระดับชั้นป.1-3 จากสัปดาห์ละ 1 คาบเป็นสัปดาห์ละ 5 คาบอีกด้วย[1]


การเรียนภาษาอังกฤษ 5 คาบต่อสัปดาห์อาจดูเป็นเรื่องปกติมากๆ อย่างผมเองก็เรียนภาษาอังกฤษไม่น่าจะต่ำกว่า 3 คาบต่อสัปดาห์ตั้งแต่สมัยอนุบาล ยิ่งในปัจจุบันที่โรงเรียนหลายๆ แห่งก็พยายามใช้เรื่องนี้เป็นจุดขาย ดึงดูดใจผู้ปกครองให้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ก็ได้


คำถามที่น่าสนใจคงอยู่ที่ว่า แล้วจำนวนคาบที่เพิ่มขึ้นนี้ ช่วยให้นักเรียนไทยเรียนและใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นหรือไม่? ซึ่งหากเราเลือกใช้ดัชนีการจัดอันดับทักษะภาษาอังกฤษโดย EF Education First เป็นเกณฑ์แล้ว คำตอบที่ได้คงไม่ใช่คำตอบที่เราอยากได้ยินสักเท่าไร เพราะไทยยังถูกจัดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ประชากรมีทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก (very low) ในปี 2020 และมีอันดับต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา[2]


หรือบางทีปัญหาจะไม่ได้อยู่ที่จำนวนคาบภาษาอังกฤษที่นักเรียนได้เรียนในแต่ละสัปดาห์? แล้วเราควรแก้ไขอย่างไรดี?


แนวทางที่ tesoltree อยากนำเสนอคือ จำนวนคาบเรียนภาษาอังกฤษก็สำคัญครับ แต่ต้องควบคู่ไปกับคุณภาพของการเรียนการสอนที่นักเรียนได้รับจากครูผู้สอนด้วย


เพราะจำนวนคาบเรียนภาษาอังกฤษที่เพิ่มขึ้นคือการเพิ่มโอกาสที่นักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์หรือเปิดรับ (exposure) ต่อภาษาอังกฤษในสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่ไม่ได้ใช่ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันด้วย ยิ่งเรามี exposure ต่อภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่าไร เราก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะซึมซับและใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ดังที่งานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Samer Mahmood Al-Zoubi จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ Ajloun ประเทศจอร์แดนได้ระบุไว้


นอกจากนี้ ผศ. Al-Zoubi ยังระบุด้วยว่า การเปิดรับภาษานี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น การที่ผู้ปกครองและคุณครูกระตุ้นให้นักเรียนได้ซึมซับภาษาผ่านการดูหนังฟังเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษ การอ่านหนังสือ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ก็สามารถช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนได้[3] เรื่องนี้สอดคล้องกับบทความที่เราได้เคยเขียนไปแล้วว่าเราต้องเรียนภาษาอังกฤษนานแค่ไหนถึงจะพูดภาษาอังกฤษได้ (คลิกอ่านได้ที่นี่เลยครับ) เช่นเดียวกับที่ ผศ.ปทมา อัตนโถ ผู้ที่ทำคลิปสอนภาษาอังกฤษบนแอปพลิเคชัน TikTok และมีคนติดตามมากกว่า 4 ล้านคน ได้เคยเล่าถึงการเปิดรับซึมซับภาษาอังกฤษของตัวท่านเองใน TED Talks ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว (ใครสนใจดูคลิปของท่านได้ที่นี่นะครับ)


ในขณะเดียวกัน คุณภาพการเรียนการสอนที่นักเรียนได้รับก็สำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งจำนวนคาบเรียนมีไม่มาก คุณภาพของการสอนก็ยิ่งสำคัญและควรจะสูงมากๆ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น จำนวนนักเรียนต่อห้องที่ไม่มากเกินไป การพัฒนาสื่อการสอนให้สนุกและน่าสนใจสำหรับนักเรียนอยู่เสมอๆ การจัดอบรมให้ครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง ให้ครูได้ทราบถึงเทคนิคการสอนใหม่ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ เป็นต้น ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนสามารถนำไปปรับปรุงและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนได้


แน่นอนว่าแนวทางที่ว่ามาคงไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและฉับพลัน แต่ก็เป็นแนวทางที่ tesoltree ต้องการส่งมอบให้กับโรงเรียนที่ร่วมงานกับเราเสมอ เพราะเราเข้าใจและต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยอย่างยั่งยืน


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Follow Us
Search By Tags
  • Facebook Basic Square
  • YouTube Social  Icon
bottom of page